หินอ่อน
หินอ่อน(Marble)มีมากมายหลายชนิดตามลักษณะของเนื้อหินไม่ดูดซับน้ำและไม่เก็บความร้อนเป็น หินที่ดูดซับความเย็น สามารถทำความสะอาดได้ง่ายแต่แข็งแรงน้อยกว่าหินแกรนิต สีของหินที่พบในประเทศมีหลายสีและลวดลายต่างๆกัน ซึ่งใช้กำหนดราคาตามความนิยมของตลาด เช่น สีขาว เทาขาว เทาเข้ม เทาดำ ชมพู เทาเขียว ทั้งที่มีลวดลายและเป็นสีล้วน
กำเนิดหินอ่อนมาจากแคลเซียมคาร์บอเนตที่สะสมอยู่ในท้องทะเลหรือมหาสมุทรมาก่อน กระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวขึ้นในบริเวณดังกล่าว คือที่ๆ เคยเป็นทะเลหรือมหาสมุทรกลับกลายเป็นภูเขาขึ้นมา และที่ๆ เคยเป็นบกเป็นภูเขามากลับกลายเป็นทะเล รวมถึงผ่านกระบวนการทางธรณี เช่น เกิดมีแมกมาไหลออกมา และพอดีหินที่สะสมไว้ในทะเลไปโดนกับแมกมาเข้า สำคัญคือแมกมานั้นเต็มไปด้วยความร้อน ความดัน และก๊าซ จึงทำให้แคลเซียมคาร์บอเนตมีอันละลาย แล้วตกผลึก เกิดเป็นหินอ่อนขึ้นมาได้ในที่สุด แต่ในกรณีที่เกิดการหลอมละลาย แล้วตกผลึกไม่หมดทีเดียว ก็จะเกิดหินปูนคล้ายหินอ่อน และจะพบพวกซากเปลือกหอยทะเลต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่รวมกับตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนต
ถ้าหินเดิมมีความบริสุทธิ์มาก เนื้อหินอ่อนจะเป็นสีขาว และหินอ่อนสีขาวที่เกิดจากผลึกของแคลไซต์เม็ดเล็กๆ ละเอียดๆ นี้หายากกว่าหินอ่อนที่มีสี ซึ่งการที่หินอ่อนมีมากมายหลายสีก็ขึ้นอยู่กับสิ่งเจือปน เช่น แมงกานีสออกไซด์ และเหล็กออกไซด์ ทำให้หินอ่อนมีสีต่างๆ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณและอัตราส่วนของออกไซด์ทั้งสองด้วย ออกไซด์ทั้งสองทำให้หินอ่อนมีสี เช่น แดง เหลือง น้ำตาล เป็นต้น ขณะที่หินอ่อนสีดำเกิดจากการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ หินอ่อนสีเขียวเกิดจากการปนของแร่ไดออปไซด์ ฮอร์นเบลนด์ เซอร์เพนทีน หรือทัลค์ แต่ถ้ามีแกรไฟต์และบิทูเมนอยู่ด้วย หินอ่อนจะมีเงาออกเป็นสีเทา
หินอ่อนเป็นวัสดุที่ขัดได้ โดยเฉพาะหินอ่อนเม็ดละเอียดยิ่งขัดมันง่าย จึงมักมีการนำหินอ่อนชนิดนี้มาใช้ในงานศิลปะ ทั้งงานแกะสลัก งานประติมากรรม และสถาปัตยกรรมด้วย นับเป็นสินธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญมากทางวัฒนธรรมอันแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์
ธรรมชาติของหินอ่อนจะมีรูพรุนเล็กๆ ในเนื้อหิน สิ่งสกปรกจึงซึมเข้าไปใต้ผิวได้ง่าย และยังมีความไวต่อสารเคมี อาทิ กรด-ด่างของแชมพูและสบู่ โดยจะทำปฏิกิริยากับเนื้อหิน เกิดการกัดกร่อนที่ผิวหน้า ดังนั้น ถ้านำไปใช้ในส่วนที่ต้องเผชิญกับสิ่งสกปรกตลอดเวลา เช่น ในครัวและห้องน้ำ ปัญหาหินหมองคล้ำก็จะเกิดเป็นเรื่องปกติ แก้ไขได้ด้วยการใช้น้ำยา (ชนิดที่ไม่ทำลายผิววัสดุ) ขจัดคราบสกปรกที่ฝังแน่นและขัดลอกแว็กซ์หรือเคลือบเงาเก่าให้หลุดออกไปก่อน เพื่อให้ความชื้นที่อยู่ในเนื้อหินระเหยออกมาได้ จากนั้นลงน้ำยาเคลือบหินเพื่อป้องกันคราบฝุ่น และหมั่นเช็ดถูเพื่อดูดซับสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากหน้าหิน แต่ถ้าผิวหน้าชำรุดทรุดโทรมเพราะขาดการดูแลรักษาที่ถูกต้องมานาน ควรให้ช่างมาขัดลอกผิวหน้าเดิมออกไป จากนั้นเคลือบเงาใหม่ให้กลับสวยงาม